Piedmont-Sardinia, Kingdom of (-)

ราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย (-)

 ราชอาณาจักรบีดมอนด์-ซาร์ดิเนีย มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า ราชอาณาจักรซาร์ดิเนีย (Kingdom of Sardinia) แต่คนทั่วไปนิยมเรียกว่า ราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย หรือปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียมากกว่า ดินแดนส่วนที่เป็นเกาะซาร์ดิเนียเคยตกอยู่ใต้อำนาจปกครองของสเปนเป็นเวลาหลายร้อยปีก่อนที่ราชวงศ์ซาวอย (Savoy)* จะได้รับสิทธิเข้าครอบครองใน ค.ศ. ๑๗๒๐ ระหว่างสงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolutionary Wars ค.ศ. ๑๗๙๒-๑๘๐๒)* ราชวงศ์ซาวอยมีดินแดนในปกครองเหลือเพียงเกาะซาร์ดิเนียเท่านั้น ต่อมา ปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย ได้รับการฟื้นฟูเป็นราชอาณาจักรขึ้นมาใหม่ในการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna ค.ศ. ๑๘๑๔-๑๘๑๕)* ทั้งที่ประชุมยังเพิ่มขนาดให้ใหญ่ขึ้นอีกเพื่อให้เป็นรัฐกันชนป้องกันไม่ให้ฝรั่งเศสขยายอำนาจลงสู่คาบสมุทรอิตาลีได้โดยง่าย ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียเป็นดินแดนที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำในการขับไล่ออสเตรียออกจากคาบสมุทรอิตาลีและรวมชาติอิตาลี หลังจากจัดตั้งราชอาณาจักรอิตาลีได้สำเร็จใน ค.ศ. ๑๘๖๑ พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๒ [ (Victor Emmanuel II)* กษัตริย์แห่งปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย ค.ศ. ๑๘๔๙-๑๘๖๑ กษัตริย์แห่งอิตาลี ค.ศ. ๑๘๖๑-๑๘๗๘] แห่งราชวงศ์ชาวอยทรงได้รับอัญเชิญเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของราชอาณาจักรอิตาลีด้วย

 ราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียตั้งอยู่ในยุโรปกลางตอนใต้ ประกอบด้วยดินแดนที่เป็นเกาะและดินแดนที่ตั้งอยู่บนแผ่นดินใหญ่อิตาลี ได้แก่ เกาะซาร์ดิเนียหรือซาร์เดญญา (Sardegna) ในภาษาอิตาลี ซึ่งเป็นเกาะใหญ่เป็นลำดับที่ ๒ ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่อิตาลีไปทางทิศตะวันออก ๑๙๓ กิโลเมตร ส่วนดินแดนในแผ่นดินใหญ่ ได้แก่ ปีดมอนต์ ซาวอย นีซ (Nice) และลีกูเรีย (Liguria) ทิศเหนือติดต่อกับสวิตเซอร์แลนด์ ทิศใต้จดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทิศตะวันออกจดทะเลดิร์เรเนียน (Tyrrhenian) ติดต่อกับราชรัฐปาร์มา (Duchy of Parma) และออสเตรียและทิศตะวันตกติดต่อกับฝรั่งเศส

 ประวัติการจัดตั้งราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียย้อนกลับไปใน ค.ศ. ๑๗๒๐ หลังมีการตกลงในสนธิสัญญาลอนดอน (Treaty of London ค.ศ. ๑๗๑๘) ให้จัดตั้ง “ราชอาณาจักรซาร์ดิเนีย” ขึ้น เกาะซาร์ดิเนียถูกรวมเข้ากับดินแดนต่าง ๆ บนผืนแผ่นดินใหญ่อิตาลีในปกครองของราชวงศ์ซาวอย [ออกเสียงในภาษาอิตาลีว่า “ซาโวยา” (Savoia)] มีกรุงตูริน (Turin) ซึ่งตั้งอยู่ในราชรัฐซาวอยเป็นเมืองหลวงทำให้ราชอาณาจักรซาร์ดิเนียมีความมั่นคงและเข้มแข็งขึ้นอย่างไรก็ดี แม้ราชอาณาจักรซาร์ดิเนียหรือต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เรียกกันโดยทั่วไปว่า “ราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย” จะถือกำเนิดอย่างเป็นทางการใน ค.ศ. ๑๗๒๐ แต่เรื่องราวและประวัติศาสตร์ของซาร์ดิเนียก็ย้อนไปถึงก่อนสมัยประวัติศาสตร์ มีการค้นพบทางโบราณคดีที่ยืนยันว่าเกาะซาร์ดิเนียมีผู้คนอาศัยมานานนับหลายพันปีในศตวรรษ ที่ ๖ ก่อนคริสต์ศักราช พวกคาร์เทจ (Carthaginian) ได้อพยพเข้ามาและพัฒนาเกาะซาร์ดิเนีย ซึ่งเข้าใจว่าตั้งชื่อตามชื่อซาร์ดัส (Sardus) โอรสของเฮอร์คิวลิส (Hercules) จนกลายเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญ ต่อมา ชาวโรมันก็เข้าครอบครองเกาะซาร์ดิเนียเมื่อ ๒๓๘ ปีก่อนคริสต์ศักราชและใช้เป็นแหล่งเพาะปลูกและแหล่งเสบียงอาหารที่สำคัญของกรุงโรม ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๕ ซาร์ดิเนียถูกพวกอนารยชนเผ่าแวนดัล (Vandal) เข้ารุกรานและยึดครองจนถึง ค.ศ. ๕๓๔ ก่อนถูกจักรวรรดิไบแซนไทน์ (Byzantine) ขับไล่ แต่ก็ถูกพวกอนารยชนเผ่าอื่นเข้ารุกรานอีกใน ค.ศ. ๕๕๐ อีก ๓ ปีต่อมา จักรวรรดิไบแซนไทน์ก็สามารถยึดคืนได้และปกครองอยู่ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๘ เมื่อดินแดนรอบ ๆ ถูกพวกมุสลิมเผ่าซาราเซ็น (Saracen) เข้ารุกราน

 ระหว่าง ค.ศ. ๑๐๑๕-๑๐๑๖ ด้วยความช่วยเหลือจากชาวเมืองเจนัว ชาวเมืองปีซาก็สามารถขับไล่พวกซาราเซ็นออกจากเกาะซาร์ดิเนียได้ แต่ทั้ง ๒ ฝ่ายต่างอ้างสิทธิในการปกครองซาร์ดิเนีย ในที่สุด สันตะปาปาและจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire)* ต้องเข้าแทรกแซงและตัดสินให้ชาวเมืองปีซาเป็นผู้ชนะ ต่อมาพื้นที่ของเกาะซาร์ดิเนียถูกแบ่งออกเป็น ๔ แคว้นหรือจูดีกาตี (giudicati) คือ กาลยารี (Cagliari) อาร์โบเรอา (Arborea) ลูกูโดโร (Lugudoro) และกัลลูรา (Gallura) ซึ่งแต่ละแคว้นมีจูดีเช (giudice) เป็นประมุขและทำสงครามต่อกัน โดยนครปีซา เจนัว และสันตะปาปาต่างให้ความช่วยเหลือแคว้นต่าง ๆ

 ใน ค.ศ. ๑๒๙๗ สันตะปาปาบอนิเฟซที่ ๘ (Boniface VIII ค.ศ. ๑๒๙๔-๑๓๐๓) ทรงออกเอกสาร Regnum Sarduniae et Corsicae อ้างสิทธิเหนือดินแดนเกาะซาร์ดิเนียและหมู่เกาะคอร์ซิกาทั้งหมดเป็น “พีฟ” (fief) หรือดินแดนในกรรมสิทธิ์ของพระองค์ และยกสิทธิการครอบครองให้พระเจ้าเจมส์ที่ ๒ (James II ค.ศ. ด๒๑๓-๑๒๗๖) แห่งอารากอน (Aragon) หลังจากนั้น กษัตริย์แห่งอารากอนก็ต้องใช้เวลาปราบปรามแคว้นต่าง ๆ ในซาร์ดิเนียเพื่อให้ยอมรับอำนาจของราชอาณาจักรอารากอนรวมทั้งใช้พระราชทรัพย์ เพื่อซื้อดินแดนบางส่วนด้วย ใน ค.ศ. ๑๓๒๖ เจ้าชายอัลฟอนโซ [ต่อมาคือพระเจ้าอัลฟอนโซที่ ๔ (Alfonso IV ค.ศ. ๑๓๒๗-๑๓๓๖)] ก็ทรงประสบความสำเร็จในการขับชาวเมืองปีซาและพวกกาลยารีออกจากเกาะซาร์ดิเนีย ต่อมา หลังจากกองทัพอารากอนได้เข้ายึดแคว้นอาร์โบเรอาได้ใน ค.ศ. ๑๔๐๓ ก็ได้มีการยกเลิกระบบการปกครองแบบฟิวดัล (feudalism) โดยให้ขุนนางผู้มีอำนาจปกครองมีตำแหน่งมาร์ควิส (marquis) แทนตำแหน่งจูดีเช ใน ค.ศ. ๑๔๒๑ การยึดครองเกาะซาร์ดิเนียทั้งหมดของอารากอนก็เสร็จสมบูรณ์ โดยอารากอนส่งข้าหลวง (viceroy) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากสภากอร์เตส (Cortes) ทุก ๆ ๑๐ ปี เป็นตัวแทนของอารากอนในการปกครองซาร์ดิเนียส่วนคอร์ซิกาสามารถรักษาอิสรภาพได้โดยตลอดและไม่ถูก กองทัพของอารากอนพิชิต

 ซาร์ดิเนียตกเป็นมณฑลหนึ่งของราชอาณาจักรอารากอนและสเปน [ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ราชอาณาจักรอารากอนและราชอาณาจักรกาสตีล (Castile) รวมตัวกันเป็นราชอาณาจักรสเปนอย่างเป็นทางการ] จนถึงสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ เมื่อราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg)* สายสเปนสิ้นสายลงและเกิดสงครามการสืบราชบัลลังก์สเปน (War of the Spanish Succession ค.ศ. ๑๗๐๑-๑๗๑๔) ระหว่างราชวงศ์บูร์บง (Bourbon)* ของฝรั่งเศสกับราชวงศ์ฮับส์บูร์กสายออสเตรีย สงครามยุติลงด้วยสนธิสัญญายูเทรกต์ (Treaty of Utrecht ค.ศ. ๑๗๑๓) ซึ่งกำหนดให้ราชวงศ์ ฮับส์บูร์กสายออสเตรียได้รับ “เนเธอร์แลนด์ของสเปน” (Spanish Netherlands) หรือเบลเยียม รวมทั้งมิลาน เนเปิลส์ และซาร์ดิเนียเป็นเครื่องตอบแทน [โดยเนเธอร์แลนด์ของสเปนมีชื่อเรียกใหม่ว่า “เนเธอร์แลนด์ของออสเตรีย” (Austrian Netherlands)] ระหว่างที่สงครามดำเนินอยู่นั้น วิกเตอร์ อามาเดอุสที่ ๒ ดุ๊กแห่งซาวอยและประมุขของปีดมอนต์ (Victor Amadeus II, Duke of Savoy and Sovereign of Piedmont) ได้ตกลงที่จะยกซิซิลีให้แก่ราชวงศ์ฮับส์บูร์กสายออสเตรียเพื่อแลกกับซาร์ดิเนีย ต่อมา ข้อแลกเปลี่ยนดังกล่าวนี้ได้รับสัตยาบันอย่างเป็นทางการในสนธิสัญญาเฮก (Treaty of The Hague) เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๗๒๐ โดยดุ๊กแห่งซาวอยในฐานะประมุขคนใหม่ของซาร์ดิเนียซึ่งเป็นดินแดนที่มีสถานภาพเป็นราชอาณาจักรตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ ได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศเป็นกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรซาร์ดิเนีย ดังนั้น นับตั้งแต่ ค.ศ. ๑๗๒๐ เป็นต้นมา ประมุขของราชวงศ์ซาวอยทุกพระองค์ดำรงพระเกียรติยศกษัตริย์ ระหว่าง ค.ศ. ๑๗๖๗-๑๗๖๙ พระเจ้าชาลส์ เอมมานูเอลที่ ๓ (Charles Emmanuel III ค.ศ. ๑๗๓๐-๑๗๗๓) ทรงยึดครองกลุ่มเกาะมัดดาเลนา (Maddalena) ในช่องแคบโบนีฟาโช (strait of Bonifacio) ระหว่างซาร์ดิเนียกับคอร์ซิกาได้จากสาธารณรัฐเจนัว ทำให้ซาร์ดิเนียมีอำนาจปกครองกลุ่มเกาะมัดดาเลนาและควบคุมช่องแคบโบนีฟาโชด้วย

 ระหว่างสงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๒-๑๘๐๒ พระเจ้าชาลส์ เอมมานูเอลที่ ๔ (Charles Emmanuel IV ค.ศ. ๑๗๙๖-๑๘๐๒) ทรงถูกนโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)* ซึ่งเข้ายึดครองดินแดนคาบสมุทรอิตาลีถอดออกจากการปกครองดินแดนในแผ่นดินใหญ่และบีบให้เสด็จไปประทับที่เกาะซาร์ดิเนีย ใน ค.ศ. ๑๗๙๙ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๐๒ ดินแดนส่วนใหญ่ของราชอาณาจักรซาร์ดิเนียถูกผนวกเข้ากับฝรั่งเศส พระเจ้าชาลส์ เอมมานูเอลที่ ๔ จึงทรงสละราชสมบัติให้แก่พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๑ (Victor Emmanuel I ค.ศ. ๑๘๐๒-๑๘๒๑)* พระอนุชาเป็นกษัตริย์ปกครองดินแดนที่เหลือเพียงเกาะซาร์ดิเนียเท่านั้น

 อย่างไรก็ดี หลังฝรั่งเศสปราชัยในสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕)* ที่ประชุมใหญ่แห่งเวียนนา ( ค.ศ. ๑๘๑๔-๑๘๑๕) ได้ตกลงให้มีการฟื้นฟูราชอาณาจักรซาร์ดิเนียขึ้นมาใหม่ ขณะเดียวกันก็ให้ฝรั่งเศสยกเมืองนีซและซาวอยแก่ซาร์ดิเนีย รวมทั้งให้ซาร์ดิเนียมีพื้นที่ครอบคลุมถึงอดีตสาธารณรัฐเจนัวด้วย เพื่อให้ซาร์ดิเนียเป็นรัฐที่เข้มแข็งขึ้นและสามารถปิดล้อมฝรั่งเศสทางตอนใต้ตามหลักการปิดล้อม (Principle of Encircle) ทำให้ราชอาณาจักรซาร์ดิเนียกลายเป็นรัฐที่มีพื้นที่ในแผ่นดินใหญ่จำนวนมากขึ้นและกิจกรรมต่าง ๆ มักเกิดขึ้นในแผ่นดินใหญ่นี้ รวมทั้งยังมีความสำคัญในฐานะรัฐกันชนอีกด้วย ราชอาณาจักรซาร์ดิเนียจึงเป็นที่นิยมเรียกกันในชื่อ “ราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย” มากกว่าซาร์ดิเนียซึ่งเป็นเพียงชื่อเกาะเท่านั้น

 อย่างไรก็ดี ข้อตกลงของที่ประชุมใหญ่แห่งเวียนนาที่ไม่คำนึงถึงลัทธิเสรีนิยมและลัทธิชาตินิยมได้สร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวอิตาลีผู้เลื่อมใสในลัทธิเสรีนิยมและลัทธิชาตินิยม ในช่วงสงครามการปฏิวัติฝรั่งเศสและโดยเฉพาะในสมัยที่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ เรืองอำนาจนั้น “ระบอบเก่า” ในคาบสมุทรอิตาลีได้ถูกทำลายลงและมีการจัดตั้งระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐขึ้นในดินแดนต่าง ๆ รวมทั้งการสถาปนาราชอาณาจักรอิตาลี แม้ว่าดินแดนอิตาลีทั้งหมด ไม่ได้รวมกันเป็นปึกแผ่นอย่างแท้จริง แต่ก็เป็นการจุดประกายของการรวมชาติอิตาลีด้วย ในปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียเองก็มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ พวกเสรีนิยมได้จัดตั้งสมาคมลับต่าง ๆ ขึ้นซึ่งอยู่ใต้การชี้นำของสมาคมคาร์โบนารี (Carbonari)* และได้มีการเคลื่อนไหวโดยใช้อาวุธขึ้นในวันที่ ๑๐ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๒๑ พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๑ ทรงเลือกที่จะสละราชบัลลังก์มากกว่าการพระราชทานรัฐธรรมนูญ ตลอดช่วงทศวรรษ ๑๘๒๐ ในรัชสมัยของพระเจ้าชาลส์ เฟลิกซ์ (Charles Felix ค.ศ. ๑๘๒๑-๑๘๓๑) พระอนุชาการปราบปรามก็ทวีความรุนแรงมากขึ้น

 ระหว่างทศวรรษ ๑๘๓๐ ถึงการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848)* บรรยากาศต่อต้านออสเตรียซึ่งปกครองดินแดนหลายแห่งในอิตาลีซึ่งเป็นอุปสรรคในการรวมชาติได้แผ่ขยายมากขึ้น ได้มีการจัดตั้งขบวนการอิตาลีหนุ่ม (Youth Italy) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๓๑ เพื่อล้มล้างระบบเก่าและรวมชาติอิตาลีตามอุดมการณ์รีซอร์จีเมนโต (Risorgimento)* ชาวปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียจำนวนมากซึ่งรวมทั้งจูเซปเป การีบัลดี (Giuseppe Garibaldi)* วีรบุรุษผู้มีบทบาทในการรวมชาติอิตาลีในเวลาต่อมาก็เป็นสมาชิกด้วยการีบัลดีพยายามปลุกระดมทหารเรือของราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียให้ร่วมก่อกบฏ แต่ล้มเหลว

 เมื่อเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ พระเจ้าชาลส์ อัลเบิร์ต (Charles Albert ค.ศ. ๑๘๓๑-๑๘๔๙)* ทรงพยายามป้องกันเหตุการณ์รุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย กอปรกับแรงกดดันของประชาชน พระองค์จึงทรงยอมประกาศรัฐธรรมนูญในวันที่ ๔ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๔๘ ทั้งยอมเป็นผู้นำในการต่อต้านอำนาจและอิทธิพลของออสเตรียในคาบสมุทรอิตาลี ในเวลาไม่ช้า ปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียก็ประกาศสงครามกับกองทัพออสเตรียที่เข้ามาปราบปรามการปฏิวัติ ขณะเดียวกันดินแดนต่าง ๆ ได้แก่ ปาร์มา โมเดนา (Modena) และลอมบาร์ดี (Lombardy) ก็ประกาศรวมดินแดนของตนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียด้วย

 สงครามระหว่างปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียกับออสเตรียได้สิ้นสุดลงในวันที่ ๒๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๔๙ เมื่อกองทัพปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียพ่ายแพ้อย่างยับเยินในการรบที่เมืองโนวารา (Novara) ในเย็นนั้นเองพระเจ้าชาลส์ อัลเบิร์ตก็ทรงสละราชบัลลังก์ให้แก่พระราชโอรส ซึ่งต่อมาเฉลิมพระอิสริยยศพระเจ้าวีกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๒ ส่วนพระเจ้าชาล์ส อัลเบิร์ตเสด็จลี้ภัยไปยังโปรตุเกสและสวรรคตในวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๔๙

 เมื่อการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ สิ้นสุดลง ราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียเป็นดินแดนแห่งเดียวที่รัฐธรรมนูญไม่ถูกยกเลิก ปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นรัฐเสรีที่สุด และกรุงตูรินก็เป็นที่ลี้ภัยทางการเมืองและศูนย์กลางของขบวนการชาตินิยมอิตาลี ขณะเดียวกันปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียก็ได้เคานต์กามิลโล เบนโซ ดิ กาวัวร์ (Camillo Benso di Cavour)* นักชาตินิยมผู้มีความสามารถทั้งในด้านเศรษฐกิจและการทูตเป็นอัครมหาเสนาบดี ทำให้ปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียเป็นความหวังของกลุ่มชาตินิยมอิตาลีในการเป็นผู้นำในการรวมชาติอิตาลีอีกครั้ง

 ในการวางแผนรวมชาติอิตาลี กาวัวร์ได้ดำเนินนโยบายทางการทูตอย่างชาญฉลาด โดยพยายามผูกมิตรกับมหาอำนาจยุโรปและให้ปัญหาการรวมชาติอิตาลีเป็นที่รับรู้ ใน ค.ศ. ๑๘๕๔ ปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียได้ลงนามในสนธิสัญญากับอังกฤษและฝรั่งเศส และส่งทหารจำนวน ๑๗,๐๐๐ คนเข้าร่วมสงครามกับรัสเซียในสงครามไครเมีย (Crimean War ค.ศ. ๑๘๕๓-๑๘๕๖)* แม้ว่าทหารจำนวนมากจะเสียชีวิตในสนามรบ แต่เกียรติภูมิที่ปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียได้รับคือการมีผู้แทนเข้าประชุมเคียงบ่าเคียงไหล่กับมหาอำนาจยุโรปในการทำสนธิสัญญาปารีส (Treaty of Paris ค.ศ. ๑๘๕๖) เพื่อยุติสงคราม กาวัวร์ได้ถือโอกาสเสนอปัญหาการรวมชาติอิตาลีและกล่าวโจมตีการปกครอง อันกดขี่ข่มเหงของออสเตรียในดินแดนภาคเหนือของอิตาลีซึ่งที่ประชุมได้แสดงความเห็นใจปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียเป็นอันมาก ต่อมา กาวัวร์ได้ดำเนินนโยบายใช้สงครามเป็นพื้นฐานของนโยบายการรวมชาติและประสบความสำเร็จใน ค.ศ. ๑๘๕๘ เมื่อชักจูงให้จักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ (Napoleon III ค.ศ. ๑๘๕๒-๑๘๗๑)* อดีตเจ้าชายหลุยส์นโปเลียน ประธานาธิบดีแห่งฝรั่งเศสที่สถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๒ (Second Empire of France)* ใน ค.ศ. ๑๘๕๒ ซึ่งทรงมีนโยบายจะเผยแพร่พระเกียรติยศของราชวงศ์โบนาปาร์ตให้เข้าข้างฝ่ายตนโดยให้ฝรั่งเศสสัญญาจะช่วยเหลือปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียในกรณีที่เกิดสงครามกับออสเตรีย ทั้งนี้ฝรั่งเศสจะได้รับเมืองนีซและชาวอยเป็นสิ่งตอบแทน

 ใน ค.ศ. ๑๘๕๙ ปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียได้ก่อสงครามกับออสเตรียซึ่งมีผลให้รัฐบาลของออสเตรียในทัสกานิและมัสซา (Massa) รวมทั้งการ์รารา (Carrara) ปาร์มา โมเดนา และราชอาณาจักรซิซิลีทั้งสอง (Kingdom of the Two Sicilies) หรือราชอาณาจักรเนเปิลส์และซิซิลี (Kingdom of Naples and Sicily) ถูกพวกปฏิวัติชาวอิตาลีโค่นล้มต่อมาดินแดนต่าง ๆ ดังกล่าวได้รวมตัวกันกับราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียในการประชุมรัฐสภาอิตาลีเมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๖๑ ณ กรุงตูริน ซึ่งเป็นการเปิดประชุมครั้งแรกหลังประสบความสำเร็จในการรวมชาติ ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งราชอาณาจักรอิตาลี และในวันที่ ๑๗ มีนาคม ค.ศ.๑๘๖๑ พระเจ้าวิกเตอร์เอมมานูเอลที่ ๒ ก็ทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งราชอาณาจักรอิตาลีโดยพระองค์ได้รับสถาปนาเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของประเทศ การเปลี่ยนผ่านราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียเป็นราชอาณาจักรอิตาลีจึงเสร็จสิ้นทั้งราชวงศ์ซาวอยก็กลายเป็นราชวงศ์ที่ปกครองอิตาลีจนอิตาลีเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐใน ค.ศ. ๑๙๔๖ หลังพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War ค.ศ. ๑๙๓๙-๑๙๔๕)*

 อย่างไรก็ดี การรวมดินแดนของชาวอิตาลียังไม่สัมฤทธิผลทั้งหมดใน ค.ศ. ๑๘๖๑ ทั้งนี้เพราะวินีเชีย (Venetia) ยังอยู่ใต้การปกครองของออสเตรียและกรุงโรมถูกกองทหารฝรั่งเศสควบคุมโดยสันตะปาปาให้การสนับสนุน สงครามเจ็ดสัปดาห์ (Seven Week’s War ค.ศ. ๑๘๖๖)* หรือสงครามออสเตรีย-ปรัสเซีย (Austro-Prussian War ค.ศ. ๑๘๖๖) และสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (Franco-Prussian War ค.ศ. ๑๘๗๐-๑๘๗๑)* ทำให้อิตาลีสามารถผนวกวินีเชียและกรุงโรมได้ตามลำดับ ในกรณีหลังสันตะปาปาไพอัสที่ ๙ (Pius IX ค.ศ. ๑๘๔๖-๑๘๗๘)* ทรงพยายามรวบรวมทหารต่อต้านแต่ไม่สำเร็จ กองทหารอิตาลีสามารถเข้ายึดกรุงโรมและประกาศตั้งกรุงโรมเป็นเมืองหลวงของประเทศ การรวมชาติอิตาลีทางกายภาพซึ่งมีราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียเป็นผู้นำจึงสำเร็จสมบูรณ์.



คำตั้ง
Piedmont-Sardinia, Kingdom of
คำเทียบ
ราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย
คำสำคัญ
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘
- การประชุมใหญ่แห่งเวียนนา
- การรบที่เมืองโนวารา
- การรวมชาติอิตาลี
- การีบัลดี, จูเซปเป
- กาวัวร์, เคานต์กามิลโล เบนโซ ดิ
- ขบวนการอิตาลีหนุ่ม
- เนเธอร์แลนด์ของสเปน
- เนเธอร์แลนด์ของออสเตรีย
- โบนาปาร์ต, นโปเลียน
- ระบบการปกครองแบบฟิวดัล
- ระบอบเก่า
- รีซอร์จีเมนโต
- ลัทธิชาตินิยม
- ลัทธิเสรีนิยม
- วินีเชีย
- สงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส
- สงครามการสืบราชบัลลังก์สเปน
- สงครามไครเมีย
- สงครามเจ็ดสัปดาห์
- สงครามนโปเลียน
- สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สงครามออสเตรีย-ปรัสเซีย
- สนธิสัญญาปารีส
- สนธิสัญญายูเทรกต์
- สนธิสัญญาลอนดอน
- สนธิสัญญาเฮก
- สภากอร์เตส
- สมาคมคาร์โบนารี
- สวิตเซอร์แลนด์
- ฮับส์บูร์ก, ราชวงศ์
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-